เนื้อหา
ลายคันนาบนจีวร
ในสมัยพุทธกาล เมื่อครั้งเจ้าชายสิทธัตถะออกผนวช ก็มีหลักฐานว่า ทรงใช้ผ้านุ่งห่มที่เรียกว่าจีวร แต่ในช่วงต้นพุทธกาล พระภิกษุยังคงใช้ผ้าที่หาได้มาเย็บต่อๆกัน ไม่เป็นระเบียบ หรือบางครั้งภิกษุบางรูปได้รับถวายผ้าอย่างดีจากคหบดีก็มีการถูกลักขโมยบ่อยครั้ง เนื่องด้วยผ้าเป็นสิ่งที่หายากในสมัยพุทธกาล
จนต่อมาพระพุทธเจ้าได้ทอดพระเนตรนาของชาวมคธ จึงทรงดำริให้ตัดผ้าจีวร เป็นสี่เหลี่ยมผืนเล็กๆ มาต่อกัน จึงมีลักษณะเป็นผ้าที่เศร้าหมอง คือผู้อื่นมักไม่ต้องการไปตัดเย็บอีก เหมาะสมกับสมณะ ผ้าสี่เหลี่ยมผืนเล็กๆ ที่เย็บต่อกันนั้น ปรากฏลวดลายเป็นลายคันนา ออกแบบโดยพระอานนท์ ดังปรากฏข้อความในพระวินัยปิฎก ว่า
"อานนท์ เธอเห็นนาของชาวมคธ ซึ่งเขาพูนดินขึ้นเป็นคันนาสี่เหลี่ยม พูนคันนายาวทั้งด้านยาวและด้านกว้าง พูนคันนาคั่นในระหว่างๆ ด้วยคันนาสั้นๆ พูนคันนาเชื่อมกันทาง 4 แพร่ง ตามที่ซึ่ง คันนากับคันนา ผ่านตัดกันไปหรือไม่? ... เธอสามารถแต่งจีวรของภิกษุทั้งหลาย ให้มีรูปอย่างนั้นได้หรือไม่?"
พระอานนท์ตอบว่า "สามารถ พระพุทธเจ้าข้า."
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ทักขิณาคิรีชนบทตามพระพุทธาภิรมย์ แล้วเสด็จ กลับมาพระนครราชคฤห์อีก ครั้งนั้นท่านพระอานนท์แต่งจีวรสำหรับภิกษุหลายรูป ครั้นแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคได้กราบทูลว่า
"ขอพระผู้มีพระภาคจงทอดพระเนตรจีวรที่ข้าพระพุทธเจ้าแต่งแล้ว พระพุทธเจ้าข้า."
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
"ภิกษุทั้งหลาย อานนท์เป็นคนฉลาด อานนท์ได้ซาบซึ้ง ถึงเนื้อความแห่งถ้อยคำที่เรากล่าวย่อได้โดยกว้างขวาง ...จีวรจักเป็นผ้าที่ตัดแล้ว เศร้าหมองด้วยศัสตรา สมควรแก่สมณะ และพวกศัตรูไม่ต้องการ"