ธงชัยเฉลิมพล
".... ทหารย่อมเป็นสิ่งสำคัญสำหรับที่จะป้องกันพระราชอาณาเขต และเป็นเหตุที่จะให้อำนาจบ้านเมืองกว้างขวางมั่นคงยั่งยืน ทหารไม่เป็นแต่สำหรับที่จะต่อสู้ในเวลาที่เกิดการศึกสงครามอย่างเดียว ย่อมเป็นประกัน ห้ามการศึกสงครามมิให้เกิดมีได้ด้วย เพราะฉะนั้นจึงต้องกล่าวว่า การที่มีทหารประจำรักษาพระราชอาณาเขต อันพรักพร้อมไปด้วยเครื่องศาสตราวุธ และมีความกล้าหาญนั้น เป็นเครื่องป้องกันการที่จะเกิดสงครามได้ เหตุฉะนี้กองทหารทั้งปวงจึงเป็นผู้มีความชอบอยู่เนืองนิตย์...."
พระบรมราโชวาทตอนหนึ่งของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในวันพระราชทานธงชัยเฉลิมพลประจำกองทหารต่าง ๆ เมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2434
ธงชัยเฉลิมพล เป็นธงประจำหน่วยทหารที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ธงชัยเฉลิมพลถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของทหาร ที่ทหารทุกคนต้องเคารพสักการะ และพิทักษ์รักษาไว้ด้วยชีวิต การปฏิบัติต่อธงชัยเฉลิมพลทุกขั้นตอน ต้องเป็นไปตามพิธีการ ระเบียบแบบแผนที่วางไว้อย่างเข้มงวดกวดขัน ในโอกาสที่จะเชิญธงชัยเฉลิมพลออกประจำที่ จะต้องเป็นพิธีการที่มีความสำคัญเกี่ยวกับเกียรติยศและเชิดหน้าชูตาเท่านั้น เช่น พิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนของทหาร และไปราชการสงคราม เป็นต้น
ธงชัยเฉลิมพล เริ่มมีในกองทัพบก เดิมจำแนกออกเป็นสองชนิด คือ
- ชนิดแรก ธงชัยประจำกองทัพ อันได้แก่ ธงจุฑาธุชธิปไตย และ ธงไพชยนต์ธวัช
- ชนิดที่สอง ธงชัยเฉลิมพลประจำกองทหาร
ธงจุฑาธุชธิปไตย นับเป็นธงชัยเฉลิมพลประจำกองทัพธงแรกของไทย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสร้างขึ้น พระราชทานแก่กองทัพไทยเมื่อปี พ.ศ. 2418 เพื่อแทนพระองค์ไปในกองทัพ ที่ยกไปปราบพวกฮ่อที่เข้ามาก่อการจลาจลในแคว้นหัวพันทั้งห้าทั้งหก และแคว้นสิบสองปันนาของไทยในครั้งนั้น |
|
ธงมหาไพชยนต์ธวัช พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. 2455 เพื่อพระราชทานให้เป็น ธงชัยเฉลิมพลประจำกองทัพอีกธงหนึ่ง คู่กับธงจุฑาธุปธิปไตย |
|
สำหรับธงไชยเฉลิมพลประจำกองทหาร องค์พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นพระราชทานแก่หน่วยทหารเป็นคราว ๆ ละหลายธง และในคราวหนึ่ง ๆ ธงจะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน จะผิดกันในส่วนที่เป็นนายหน่วยเท่านั้น
ธงชัยเฉลิมพล ได้เข้าประกอบพิธีสำคัญทางศาสนา ในพระราชพิธีตรึงหมุด ธงชัยเฉลิมพล โดยองค์พระมหากษัตริย์ ทรงประกอบพิธีนี้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ท่ามกลางพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ชั้นผู้ใหญ่ พระมหากษัตริย์ทรง ตรึงธงแต่ละผืนติดกับด้ามธง โดยทรงตอกฆ้อนเงินลงบนตะปูทองเหลืองอย่างแน่น ธงหนึ่งมีรูตะปูประมาณ 32-35 ตัว ที่ส่วนบนของคันธงจะมีลักษณะเป็นปุ่มโลหะกลึงกลมสีทองภายในกลวง ปุ่มกลมนั้นทำเป็นฝาเกลียวปิด-เปิดได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงบรรจุ เส้นพระเจ้า พร้อมด้วยพระพุทธรูปที่ได้เข้าพิธีพุทธาภิเษกแล้ว ชื่อ พระยอดธง ลงในปุ่มกลมแล้วทรงปิดฝาเกลียวขันแน่น ทรงเจิมแป้งกระแจะจันทน์ที่ยอดธงทุกคัน พระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา ตั้งแต่เริ่มพิธีจนจบพิธี
- ก่อนหน้า
- ต่อไป >>