Get Adobe Flash player

คดีโลกคดีธรรม

 
ข้อความ
  • ARI Image Slider: "System - Ninja Shadowbox" plugin isn't installed.

พระบรมราชาธิบาย เรื่อง ความสามัคคี

พระบรมราชาธิบาย เรื่อง ความสามัคคี
พระราชนิพนธ์  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบรมราชาธิบายว่าด้วยความสามัคคี
แก้ความในคาถาที่มีในอามแผ่นดิน

 สพเพส  สงฆภูตาน  สามคคี  วุฑฒิสาธิกา
 ความเป็นผู้พร้อมเพรียงแห่งชนผู้เป็นหมู่แล้วทั้งหลายทั้งปวงให้ความเจริญสำเร็จ

 

 คาถานี้เป็นคาถาซึ่งจารึกไว้ในอามแผ่นดิน เป็นคาถาที่ว่าทั่วไปในหมู่ทั้งปวง ไม่เฉพาะว่าชาติใดภาษาใดที่ทำการอย่างใด แต่เมื่อจะว่าให้ฉะเพาะกรุงสยาม ว่าตามกาลซึ่งเป็นไปในเวลาบัดนี้ และไม่ว่าถึงคนทั้งปวงซึ่งเป็นหมู่ใหญ่ทั่งไป ยกเอาแต่พวกที่เป็นผู้รับราชการเป็นผู้ปกครองรักษาและเป็นผู้ทำนุบำรุงบ้านเมือง จะประพฤติอย่างไรจึ่งจะเป็นการสมควรถูกต้องด้วยคาถาสุภาษิตนี้ และจะได้รับความเจริญตามคาถาสุภาษิตนี้

 ข้าพเจ้าจะขอยกข้อความซึ่งมีผู้พูดกันด้วยความสามัคคีขึ้นกล่าวก่อน มีคนบางพวกที่เป็นคนมีความคิดสูง มักจะคิดการบ้านเมืองต่างๆ และมักใส่ใจในการต่างประเทศ แต่ไม่รู้หนังสือต่างประเทศ คือหนังสืออังกฤษเป็นต้น เมื่อจะออก  สติปัญญาอันใด เพื่อจะประกาศปัญญาตน หรือเมื่อกระทบกระเทือน หรือมีความปรารถนาอันใด มักจะพูดกันว่าคนยุโรปเขาทำการอันใดๆ สำเร็จไปได้ตลอด เพราะเขาเป็นสามัคคี ไม่ขัดขวางกัน เขาไม่มีความอิจฉาริษยากัน เขาเป็นคนซื่อตรง อยู่ในยุติธรรมไม่คดโกงกัน บ้านเมืองเขาจึ่งได้มีความเจริญ พูดกว้างๆเข้าใจเอาโดยอนุมานว่าข้างฝ่ายเขานั้นผู้ใดคิดการขึ้นแล้ว ผู้อื่นคงต้องตามกันและเพราะผู้พูดไม่ได้มีความริษยาคนต่างประเทศๆ ก็ไม่รู้จักหรือไม่ริษยาตัว ต่างคนต่างอยู่ หรือพูดไม่ได้นึกว่าจะชมจริงๆเป็นแต่พูดถอนไทยกันเองเล่นในเวลาที่มีเหตุการณ์อันใดที่ไม่ชอบใจตัวหรือมีความปรารถนาไม่ได้สมควรปรารถนา

 ฝ่ายพวกที่รู้ภาษาอังกฤษ และรู้พื้นเพราชการในประเทศยุโรปว่าเป็นธรรมเนียมที่เป็นอยู่อย่างไรในกระบวนการปรึกษาราชการได้ฟังคำเจรจาภาษิตของผู้ที่อยู่ในที่ประชุมต่างๆ ซึ่งปันเป็นพวกเป็นเหล่าความเห็นต่างแตกกันตรงกันข้าม ก็น้อยใจตามไปในความเห็นนั้นๆ จนรู้สึกตัวหรือออกวาจาแสดงว่าตันเห็นความตามพวกนั้นพวกนี้ เป็นถูกเป็นผิด แล้วเอามาประพฤติตัวในวาจาถ้อยคำและความคิดความอ่านเจือไปในราชการบ้านเมืองของตัว จนเห็นว่าจำเป็นจะต้องมีปาลิแมนต์ที่ราษฎรประชุมปรึกษาราชการ และผู้ที่คิดการบ้านเมืองนั้นจะต้องเป็นสองพวกสามพวก ในความเห็นต่างกันเหมือนประเทศทั้งปวง เพราะเมืองไทยไม่ยอมให้มีความคิดต่างๆ กันเป็นพวกเป็นเหล่าพูดได้คิดได้ตามใจ บ้านเมืองจึงไม่มีความเจริญเหมือนประเทศยุโรป รวมใจความว่าปกครองบ้านเมืองแต่ด้วยอำนาจผู้ปกครองไม่พร้อมด้วยราษฎร ซึ่งนับว่าเป็นการปกครองด้วยความสามัคคีในคนหมู่ใหญ่

 ข้าพเจ้าเห็นว่าความและวาจาของท่านพวกที่หนึ่งนั้น พูดไปโดยรู้งูๆปลาๆ หมายความเกินกว่าความที่เป็นจริงไป เพราะความที่เป็นจริงนั้น ใช่ว่าฝรั่งจะไม่รู้จักคิดอ่านการอันใดขัดกัน เขาขัดกันมากอย่างยิ่ง ใช่ว่าฝรั่งจะไม่รู้จักอิจฉากัน เขาอิจฉากันอย่างยิ่ง ใช่ว่าฝรั่งจะไม่รู้จักโกง เขาโกงกันอย่างยิ่ง คำที่พวกท่านที่พูดสรรเสริญสำหรับด่าไทยกันเอง เป็นสรรเสริญโดยไม่รู้ความจริงพูดไปตามเวลาต้องการ หรือรู้แกล้งทำไม่รู้ เพื่อจะพูดเล่นข้างเดียว จึ่งว่าเป็นการไม่จริง และไม่เป็นเหตุที่จะขู่ให้คนตกใจกลัวกลับเป็นสามัคคี และไม่เป็นเครื่องล่อชักชวนแนะนำให้เกิดความสามัคคีได้ตามคาถานี้ แต่ความที่เป็นจริงนั้นมีอยู่อย่างหนึ่ง พวกประเทศทั้งปวงมักจะรักชาติรักษาบ้านเมืองของตัวเพราะคิดรักษาประโยชน์ยาวเวลา เช่น กับลงทุนทำการ  ๓๐ – ๔๐ ปี จึ่งจะมีกำไร ก็ยังกล้าที่จะลงทุนทำเป็นต้น การรักษาบ้านเมืองเป็นประโยชน์ยืดยาวที่จะได้ทั่วไป จึงป็นสำคัญที่จำเป็นต้องรักมากกว่าประโยชน์ที่ตัวจะได้เฉพาะตัวในครั้งหนึ่งคราวเดียว เพราะฉะนั้นจึ่งเป็นความจริงรวบยอดอยู่อย่างหนึ่ง ถึงว่าจะเป็นการขาดผลประโยชน์ที่จะได้เฉพาะตัว หรือผู้ที่ตัวอิจฉาริษยาจะเป็นผู้ทำการดีต่อบ้านเมือง หรือความโกงของตัวจะเป็นการให้โทษแก่บ้านเมือง มีโอกาสที่จะระงับไปได้ในเวลาที่ต้องการจะให้บ้านเมืองยืนยงคงทน และเจริญขึ้นในอำนาจและความสุขความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองแห่งตน เมื่อมีความผูกพันใหญ่เป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งอยู่อย่างนี้ จึ่งทำให้เห็นไปได้ว่าเขาเป็นผู้มีสามัคคีต่อกันทั้งสิ้น เป็นความจริงแต่ไม่จริงโดยละเอียดไปเช่นที่กล่าวนั้น

 ส่วนความเห็นท่านพวกที่รู้การในประเทศยุโรปละเอียดนั้นเห็นว่าเพราะเขามีปาลิแมนต์ที่ประชุมใหญ่ มีปาลิติกัลปาตี คือ พวกคิดราชการมีความเห็นต่างกัน สำหรับที่จะโต้ทานกันและกัน เมื่อคนเป็นอันมากได้พูดจาโต้ทานกันด้วยฝีปากจนสุดปัญญาการที่จะสำเร็จในปลายมือนั้นคงจะเป็นการที่ได้คิดเหมือนหนึ่งกับกรองจนใสละเอียดแล้ว ด้วยผู้คิดดีกว่ากัน คงต้องชะนะกัน การอันนี้ก็เป็นการมีคุณดีจริง แต่เป็นการมีคุณดีมากแต่ในประเทศยุโรปซึ่งเกิดขึ้นโดยความจำเป็นต้องมีขึ้น และได้ฝึกหัดต่อๆมาหลายร้อยปี เป็นรากเหง้าพื้นเพแน่นหนาไม่ต้องรื้อถอนขุดคุ้ยมาก เป็นแต่คิดกันตกแต่งดัดแปลงประดับประดาให้เป็นทางดีสม่ำเสมอและจะดีขึ้นได้อีกเพียงเท่าใดให้ดีขึ้น และผู้ซึ่งคิดราชการนั้น เป็นผู้มีวิชาความรู้ เป็นผู้ได้เคยได้ยินได้ฟังแบบอย่างที่จะจัดการบ้านเมืองซึ่งได้ทำได้ทดลองมาเป็นพื้นเพชัดเจนตลอดทั้งสิ้นด้วย แต่ถึงดังนั้นก็ไม่ได้ตั้งพร้อมทุกประเทศ และไม่เหมือนกันเสมอกันทุกประเทศได้ จะเพลินถือเอาความคิดของพวกที่เป็นผู้คิดราชการในประเทศยุโรปนั้นๆ มาถือเป็นความคิดของตัวมาจัดการในเมืองไทยก็จะเป็นการไม่ถูกกันเลย ด้วยพื้นเพการงานทั้งปวงไม่เหมือนกัน เหมือนหนึ่งจะไปลอกเอาตำราทำนาปลูกข้าวสาลีในเมืองยุโรปมาปลูกข้าวเจ้าข้าวเหนียวในเมืองไทยก็จะไม่ได้ผลอันใด ด้วยภูมิพื้นราชการในเมืองไทยแต่ก่อนมาเมื่อยังไม่ได้คบกับฝรั่งเป็นอย่างหนึ่งทีเดียว ถ้าจะตั้งเป็นโปลิติกัลป์ปาตีพวกคิดราชการก็จะมีได้แต่พวกละเก้าคนสิบคนหรือสี่คนห้าคน แต่ยังมีพวกอื่นอีกที่เป็นอย่างเก่าๆ อยู่นั้นตั้งร้อยพวกที่ถือว่าตัวเป็นโปลิติกัลป์ปาตีทั้งสองสามพวกก็ต้องเห็นต้องดูถูกคนตั้งร้อยนั้นว่าเป็นเลขเข้าเดือนไปหมด เพราะเหตุที่คนตั้งร้อยนั้นไม่มีความรู้ทุนรอนอันใด และไม่มีความชอบใจเห็นด้วยในความคิดนั้นทั้งสองอย่าง จึงตัดสินใจตัวเองว่าจะเป็นพวกไหนไม่ได้ เพราะฉะนั้นในพวกโปลิติกัลป์ปาตีมีข้างละเก้าคนสิบคนนั้น แต่ชั่วจะเข้าทำการเป็นคอเวอนเมนต์ก็ไม่พอ คงจะมีพวกออปโปสิชั่นมากอยู่เสมอ เพราะเหตุที่พวกซึ่งเข้าพวกใดไม่ได้ ต้องเป็นเลขอยู่หลายร้อยนั้นจะต้องเป็นออปโปสิชั่นเพิ่มพวกที่เป็นออปโปสิชั่นจริงๆ โดยความไม่เข้าใจว่าไปทางใดอยู่เป็นนิจ เพราะฉะนั้นการอันใดจะสำเร็จไปได้เพราะเหตุที่มีโปลิติกัลป์ปาตีในเมืองไทยนั้นไม่น้อยนัก หรือไม่ได้เลย เพราะภูมิพื้นบ้านเมืองไม่พอกันกับการอย่างนั้น มักจะชักให้เกิดความแตกร้าววิวาทอันไม่เป็นประโยชน์

 ข้าพเจ้าจึ่งเห็นว่าความคิดสองพวกซึ่งกล่าวมาข้างต้นแล้วนั้นไม่ถูกแก่กาลเวลาของบ้านเมือง ไม่เป็นเครื่องที่จะทำให้บ้านเมืองมีความเจริญไปได้โดยเร็ว เพราะเหตุที่จะเป็นสามัคคีไปไม่ได้ตามคาถาซึ่งกล่าวมาแล้ว

 แต่ทางซึ่งจะเป็นเครื่องอุดหนุนให้ถึงพร้อมด้วยความสามัคคีดังคาถาที่กล่าว และให้เป็นเหตุมีความเจริญแก่บ้านเมืองตามกาลตามเวลาด้วยนั้น จะว่าตามความคิดอย่างหนึ่งว่าบ้านเมืองเราเคยรักษามาอย่างไรให้ช่วยกันรักษาไปตามเดิม ปลงใจลงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่เอาอย่างยักเยื้องไปตามประเทศใด ถ้าใจคนปลงลงเป็นอย่างเดียวอย่างนี้พร้อมทั่วกันหมด ก็นับว่าเป็นสามัคคี แต่สามัคคีเช่นนั้นจะไม่ให้ความเจริญความมั่นคงแก่บ้านเมืองได้ เพราะผิดกับกาลสมัยที่ควรจะเป็น

 หรือจะมีความคิดอีกอย่างหนึ่ง เห็นว่าธรรมเนียมแบบอย่างอันใด จำเป็นจะต้องเอาธรรมเนียมยุโรปหมดทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อจะให้เป็นที่นับถือของคนประเทศยุโรป ว่าเป็นคนมีชาติมีธรรมเนียมเสมอกันเหมือนกัน และเป็นการง่ายที่จะจัดเพราะไม่ต้องคิดแบบอย่างอันใด ยกแต่ตำราของเขามาแปลงเป็นไทยจัดการไปตามนั้น ก็คงจะได้รับผลเหมือนกันกับที่เขาได้ผลมาแล้วก็ถ้าหากว่าผู้ซึ่งรับราชการปกครองรักษาแผ่นดินจะพร้อมใจกันเห็นควรจะจัดการเปลี่ยนแปลงโดยความหักโหมดังนี้หมดด้วยกันก็นับว่าเป็นการสามัคคี แต่สามัคคีอย่างนี้ ก็จะไม่เป็นเครื่องให้บ้านเมืองมีความเจริญขึ้นไปโดยเร็วได้ เพราะเหตุว่าจะต้องไปถูกที่ขัดขวางต่างๆกีดกันอยู่โดยมาก เป็นต้นว่าถ้าจะเลิกศาสนาไปถือศาสนาคริสเชียน จะเพิกถอนความนับถือพุทธศาสนาซึ่งติดอยู่ในน้ำใจคนตามที่เคยนับถือมาหลายสิบชั่วคนแล้วนั้นจะถอนได้โดยยาก แต่จะเริ่มเบื้องต้นขึ้นเท่านั้น ก็จะเป็นเหตุการณ์ใหญ่ๆจนถึงบางทีจะไม่ได้ทันจัดการอันใดสักสิ่งเดียว ผู้ปกครองที่เป็นสามัคคีหมู่นั้นจะล้มไปเสียก่อนบ้านเมืองมีความเจริญแล้ว

 เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าเห็นว่าความสามัคคีที่ต้องการในเมืองไทยเวลานี้ มีอยู่ทางเดียวแต่ที่จะให้พร้อมใจกันเดินทางกลางมีข้อสำคัญมั่นใจเสียให้ทั่วกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวว่า บ้านเมืองเราทุกวันนี้ตั้งอยู่ในระหว่างประเทศทั้งปวงที่มีอำนาจติดต่อเขตต์แดนถึงกันบ้าง ไปมาถึงกันบ้าง การปกครองบ้านเมืองอันใดซึ่งได้เคยประพฤติเคยรักษามาแต่ก่อนเป็นเวลาที่อยู่แต่ลำพังตัว เหมือนอย่างคนซึ่งอยู่ในเรืองของตัว จะประพฤติอิริยาบถนั่งนอนยืนเดินอย่างไรก็ได้ตามใจตัว ไม่เป็นที่ขัดขวางอันใด ไม่มีใครไปมาละเล้าละลุม ไม่ต้องระวังรักษาอันใด แต่เมื่อมีแขกมาถึงบ้าน จำต้องประพฤติอาการกิริยาให้เรียบร้อยสมควรจะถือว่าบ้านข้าข้าจะทำตามใจดังนั้นเป็นการไม่ควร และผู้คนไปมามาก ก็ต้องระวังรักษาตามสมควร แต่ที่จะต้องบังคับว่าเป็นการจำเป้นที่จะต้องแก้ไขปลูกแปลงเย่าเรือนเคหาใหม่ให้หมดโดยเร็วให้ต้องใจผู้มาหา และแก้ไขรูปพรรณสัณฐานเป้นต้นว่ารูปร่างไม่ดีจะขูดเกลาพอกปะให้รูปร่างดีขึ้นให้เป็นที่ชอบใจผู้มาถึงเรือนนั้นเป็นการเหลือกำลังที่จะทำไปได้ เมื่อจะทำก็จะเป็นอันตรายแก่ตัวและทรัพย์ เป็นการเกินความต้องการและเกินกว่าประโยชน์ที่จะได้ฉันใด การบ้านเมืองที่ควรจะเปลี่ยนที่จะได้ฉันใด การบ้านเมืองที่ควรจะเปลี่ยนแปลงไปได้นั้น ก็ควรจะคิดเห็นว่าบ้านเมืองเราเป็นเวลาที่จะต้องทำนุบำรุงการอันใดควรจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงก็จะต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงการอันใดควรจะตัดจะเลิกก็จะต้องตัดเสีย การอันใดควรจะเพิ่มขึ้นก็จะต้องเพิ่มขึ้น จะเทเลิกหกความในครั้งหนึ่งคราวเดียวก็ไม่มีเมืองใดจะทำได้ แต่การที่จะเลือกว่าสิ่งใดควรแก่ที่จะจัดการทั้งสามอย่างนี้เป็นที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ กันไปนั้น จะต้องตั้งใจพิจารณาดูการในบ้านเมืองก่อน ที่จะไปแลค้นหาธรรมเนียมเมืองอื่น หมายแต่จะเอาอย่างให้เหมือนเขาอย่างเดียว ไม่ดูการในเมืองตัวให้รู้ชัดก่อนนั้นไม่ได้ ต้องพิจารณาว่า การสิ่งใดซึ่งเป็นการควรจัดควรทำ เพราะมีเหตุที่เสียที่ร้าย เพราะไม่ได้จัดใหม่มากกว่าที่จะเสียประโยชน์เพราะการที่จัดและจะมีหนทางที่แก้ไขความขัดข้องในการที่จะจัดนั้นพอที่จะหักล้างไม่ให้การไปติดค้างหรือเกิดเหตุเกิดผลใหญ่โต ไม่เป็นการที่จัดลำบากแต่ได้ผลประโยชน์น้อย เช่น เปลี่ยนศาสนาเป้นต้น จึงจะควรยกสิ่งนั้นขึ้นจัดก่อนและผ่อนอย่าให้การเล็กติดการใหญ่ การซึ่งจะเป็นไปได้ติดการซึ่งเป็นไปไม่ได้ ที่ได้คิดไว้แล้วมุ่งหมายแต่การสิ่งนั้นงดการอื่นๆไว้ก่อน ให้ผ่อนไปได้ตามกาลเวลาที่สิ่งใดพอจะทำไปได้ ก็ให้ได้ทำไปได้ก่อน รวบใจความว่าไม่ต้องคิดว่าจะจัดอย่างนั้นให้เหมือนเมืองนั้นเมืองนี้ คิดเอาแต่การอันใดซึ่งเป็นการไม่ดีควรจะเปลี่ยนแปลงให้ดีที่จะสำเร็จไปได้ก่อนนั้นขึ้นตั้ง และพร้อมใจกันคิดจัดการนั้นให้สำเร็จไปได้ทีละสิ่งสองสิ่งตามลำดับ จะเป็นประโยชน์อันจริงแท้ที่จะสำเร็จได้โดยไม่สงสัย แต่การซึ่งจะจัดให้สำเร็จไปได้ดังนี้ ต้องอาศัยความสามัคคีของผู้ประธานและผู้ปรึกษาราชการทั้งปวงเป็นหลักข้อสำคัญมาก ทุกวันนี้มีผู้ซึ่งคิดราชการบ้านเมือง มีความคิดต่างๆกัน ตั้งแต่คิดว่ารักษาบ้านเมืองให้คงอยู่ตามประเพณีเดิมที่ท่านได้รักษากันมาแต่ก่อนเป็นต้น แปลกกันโดยลำดับๆ ไปจนกระทั้งถึงควรจะเปลี่ยนศาสนาเห็นว่าไม่เปลี่ยนศาสนาแล้ว การอื่นจะเจริญไม่ได้เป็นที่สุด เมื่อจะจับเอาความคิดของผู้ที่คิดราชการ ซึ่งเป็นปลายที่สุดคนละข้างเข้าชนกันแล้ว ผู้ซึ่งคิดเห็นว่าไม่ควรจะเปลี่ยนแปลงอันใดนั้น จะเห็นว่าพวกที่คิดจนถึงเปลี่ยนศาสนานั้นเป็นบ้า หรือฟุ้งส้านจนเกินที่จะคบค้าได้ ฝ่ายท่านผู้ที่คิดจะเปลี่ยนแปลงโดยแรงจนถึงเปลี่ยนศาสนานั้นเล่า ก็กลับคิดเห็นว่าพวกที่มายอมเปลี่ยนแปลงเลยนั้น เป็นคนโง่เง่าป่าเถื่อนเหมือนโคเหมือนกระบือ ไม่ควรจะนับว่าเป็นชาติมนุษย์ทีเดียว ก็ถ้าความคิดของคนที่คิดราชการทั้งปวง จะแบ่งออกเป็นสองพวกตรงกันข้ามเท่านี้ ก็จะเกิดความวิวาทขัดข้องกันและกันไม่เป็นสามัคคีได้ เพราะเหตุว่าความคิดทั้ง ๒ อย่างนี้ห่างกันผิดกันไกลกันมากกว่าความคิดของพวกคิดราชการในเมืองอังกฤษที่เรียกว่ากอนเซอเวตีฟและลิบราล ว่าอย่างยิ่งจนแรดิคัล ก็ยังใกล้กับกอนเซอเวตีฟมากกว่าความคิด ๒ อย่างที่ว่ามาในนี้ เพราะฉะนั้นโดยที่สุดถึงว่าความคิดของพวกใดพวกหนึ่งจะเป็นความคิดดีที่ควรจะใช้ได้ แต่เพราะคนทั้งสองพวกเกลียดชังต้นรากความคิดของกันและกันทั้งสองฝ่ายเสียแล้ว ก็ชวนให้บังเกิดโทษะโมหะปิดบังสติปัญญาความคิดของพวกที่มีความคิดต่างกัน ไม่ให้เอาใจสอดส่องพิจารณาข้อความนั้นโดยการไม่ควร เพราะเหตุที่ถือใจเสียว่าความคิดนั้นเป็นความคิดของคนบ้าหรือความคิดของสัตว์ดิรัจฉาน การอันใดซึ่งต่างคนต่างคิดจะจัดจะรักษานั้น ก็จะไม่สำเร็จหรือตั้งอยู่ยืนยาวไปได้ ด้วยเป็นการเกินต้องการ และไม่ถูกกับเวลาภูมิพื้นบ้านเมืองทั้งสองฝ่าย

 ข้าพเจ้าเห็นว่าท่านผู้ซึ่งมีความคิดอยู่ปลายทั้งสองฝ่ายควรจะลดหย่อนความคิดของตนร่นลงมาให้อยู่กลาง ผู้จะจัดการบ้านเมืองตามเวลาที่สมควรจะสำเร็จตลอดไปได้ให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เกิดความสามัคคีพร้อมเพรียงกันในอย่างกลางนี้แล้วจะเป็นผลให้การทั้งปวงสำเร็จได้ดีกว่าที่จะอยู่หัวอยู่ท้ายนั้นมาก ซึ่งจะถือว่าเมืองอื่นๆเขามีความคิดที่ตรงกันข้ามอย่างนี้บ้านเมืองจึงได้มีความเจริญนั้นถือไม่ได้ ด้วยเหตุว่าคนในเมืองไทยเคยรวบรวมกันเป็นความคิดอันหนึ่งอันเดียว คือเอากระแสพระราชดำริพระเจ้าแผ่นดินเป็นประมาณ เมื่อกระแสพระราชดำริเป็นไปอย่างไร คนทั้งปวงเห็นตามจริงเป็นตกลงไปได้โดยง่ายเป็นธรรมยั่งยืน เคยฝึกหัดมาหลายชั่วคนแล้ว เหตุว่ากระแสพระราชดำริของพระเจ้าแผ่นดิน ว่าเอาแต่เพียวในพระบรมราชวงค์ประจุบันนี้เป็นประมาณ ก็ย่อมตั้งอยู่ในความชอบธรรมอาศัยพระเมตตากรุณาต่ออาณาประชาราษฎรอันแรงกล้า เป็นที่นิยมยินดีชอบใจของราษฎรทั้งปวง จึงได้เป็นที่เชื่อใจวางใจของคนทั้งปวงเคยอ่อนน้อมยอมตามมาไม่มีผู้ใดจะคิดฝ่าฝืน ไม่เหมือนในประเทศยุโรปซึ่งพระเจ้าแผ่นดินประพฤติกาต่างๆรุนแรงตามอัธยาศัย มีบังคับเรื่องศาสนาเป็นต้น จนคนทั้งปวงมีความเบื่อหน่ายคิดอ่านต่อสู้ลดหย่อนอำนาจเจ้าแผ่นดิน ไม่ถือเอาเป็นประมาณหลักฐาน เป็นธรรมเนียมมาช้านานหลายร้อยปีแล้ว แต่ส่วนในกรุงสยามนี้ยังเป็นธรรมเนียมยั่งยืนมานานเป็นพื้นเพอันดีอยู่แล้ว ต่อมาเมื่อคบกับประเทศต่างๆจึ่งมามีความคิดต่างๆเกิดขึ้น คือพวกหนึ่งไม่ชอบในการเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นการจำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลง เพราะไม่รู้เหตุการณ์ซึ่งเป็นการจำเป็นอย่างไร เพราะรู้แตการภายในไม่รู้การภายนอก อีกพวกหนึ่งนั้นได้ร่ำเรียนการภายนอกไม่รู้การภายในตลอดอย่างไรก็คิดแต่จะเปลี่ยนแปลงใหม่ให้เหมือนเมืองอื่นเขาไปอย่างเดียวการอันใดที่ได้จัดได้ทำไป ซึ่งไม่เป็นที่พอใจพวกหนึ่งแล้วนั้นก็กลับเป็นที่พอใจของพวกนี้เล่า เพราะเห็นเป็นว่าเหมือนไม่ได้จัดอันใด แต่คนทั้งสองพวกนี้ คงจะมีพวกน้อยกว่าผู้ที่ถือธรรมเนียมเดิม คือ ถือเอาพระราชดำริเป็นประมาณนั้นทั้งสองพวกเพราะฉะนั้นเห็นว่า ถ้าจะชักนำให้คนทั้งปวงมีความคิดเป็นไปตามความคิดของผู้ที่คิดการเปลี่ยงแปลงถ่ายเดียว หรือผู้ซึ่งไม่ยอมเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งอย่างใดเลยนั้น ยากกว่าที่จะชักเข้าหาทางกลาง ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่คนทั้งปวงเคยถือมาโดยมาก ถ้าจะคิดทำนุบำรุงบ้านเมืองจริงๆแล้ว จะใช้ความคิดอย่างแรงทั้งสองอย่าง คือ ตั้งเป็นพวกที่มีความคิดต่างแตกกันสองพวกอย่างฝรั่งนั้นยากกว่าที่จะจัดการให้ความคิดร่วมกันเป็นอันเดียวตามอย่างเก่าโดยว่าเจ้าแผ่นดินจะอนุญาตให้ทำก็จะทำไปไม่สำเร็จ เพราะมีคนที่แยกความคิดอย่างนั้นน้อยนักอยู่แล้ว ยังจะซ้ำแบ่งออกเสียเป็นสองพวกอีก ก็จะไม่เหลือคนพอที่จะทำการได้กี่มากน้อย

 เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าเห็นว่าควรจะรวมความคิดเข้าเป็นกลางให้ลงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน พิจารณาเอาแต่ว่าการอันใดซึ่งเห็นว่าเป็นเวลาควรจัดควรทำเป็นการมีคุณดีขึ้น เป็นความสุขแก่ราษฎร เป็นการที่จะให้พระราชอาณาจักรตั้งอยู่มั่นคง ก็ปลงใจลงพร้อมกันคิดอ่านตั้งหน้าจัดการอันนั้นไปให้สำเร็จ ไม่ต้องถือว่าเป็นความคิดพวกนั้นพวกนี้ เพราะธรรมดาที่ถือว่าเป็นความคิดของพวกนั้นความคิดของพวกนี้นั้น มักจะชักให้เห็นความคิดของพวกอื่นเป็นใช้ไม่ได้ เมื่อพิจารณาอันใดก็ทำให้ความเห็นนั้นเอียงไปได้จริงๆ ถึงผู้ที่เป็นเจ้าของความคิดนั้นเล่าเมื่อรู้ว่าผู้ซึ่งจะมาพิจารณาความคิดของตัวนั้นเป็นพวกอื่น ก็ทำให้เกิดทิฏฐิมานะ ที่จะไม่ยอมฟังคำทักท้วงในความคิดที่พลาดพลั้งไปหรือความคิดที่ดีกว่าของตัวได้คิดมา แต่ถึงโดยว่าจะยินยอมพร้อมใจกันลงรวมความคิดเป็นทางกลางทางเดียวกันดังเช่นชักชวนนั้นแล้วก็ดี ก็ยังจะมีผู้ซึ่งมีความรู้และสติปัญญาที่จะเริ่มคิดจัดการให้รอบคอบทั่วถึงพ้นจากเหตุการณ์ที่จะขัดข้องต่างๆให้เป็นการใช้ได้สะดวกดี มีไม่ออกแต่ความคิดเปล่าๆ เรียบเรียงกฎหมายที่จะใช้ได้จริงๆได้ด้วยนั้นน้อยตัวนัก แล้วยังเมื่อกฎหมายนั้นสำเร็จแล้ว จะหาตัวผู้ซึ่งจะไปจัดการให้ได้ตามกฎหมายโดยความฉลาดทั่วถึงและความเพียรอุตสาหะที่จะให้การนั้นเป็นไปได้ตลอด ไม่เสื่อมเสียจืดจางไปนั้นก็มีน้อยตัวเหมือนกัน เพราะฉะนั้นจะป่วยกล่าวไปใยถึงความคิดที่จะตั้งปาลิแมนต์ขึ้นในหมู่คน ซึ่งไม่มีความรู้พอที่จะคิดราชการ และไม่เป็นความต้องการของคนทั้งปวง นอกจากที่อยากจะเอาอย่างประเทศยุโรปเพียงสี่ห้าคนเท่านั้น หรือจะมีโปลิติกัลป์ปาตีพวกคิดราชการเป็นพวกเป็นเหล่า ซึ่งจะมีผู้ที่จะอยากเป็นไม่เกินยี่สิบสามสิบคน อันจะแบ่งออกเป็นสองพวก ก็คงอยู่ในสิบสี่สิบห้าคนลงมา จะต้องเป็นทั้งผู้คิด ผู้ทำตลอดพระราชอาณาเขตต์ ที่ไหนจะทำการตลอดไปได้ ถ้าจะจัดตั้งปาลิแมนต์ หรือให้เกิดมีโปลิติกัลป์ปาตีขึ้นในเวลาซึ่งบ้านเมืองยังไม่ต้องการดังนี้ ก็จะมีแต่ข้อทุ่มเถียงกันจนการอันใดไม่สำเร็จไปได้ เป็นเครื่องถ่วงให้บ้านเมืองมีความเจริญช้านั้นอย่างเดียว เพราะความที่จริงแท้นั้น เมืองไทยกับเมืองยุโรปกลับกันตรงกันข้าม ฝ่ายประเทศยุโรปนั้น ราษฏรมีความปรารถนาที่จะเปลี่ยนแปลงร่ำไป ฝ่ายผู้ปกครองเป็นที่กีดขวางต่อการเปลี่ยนแปลงนั้น จนมีเหตุการใหญ่ๆโตๆเนืองๆแต่โบราณมาส่วนเมืองราษฏรไม่มีความปรารถนาอยากเปลี่ยนแปลงอันใดนอกจากข้อความอันใดซึ่งมากระทบไม่เป็นที่ชอบใจตัวเข้าบางคนบางหมู่ในขณะหนึ่งคราวหนึ่งเท่านั้น ถ้าจัดการเปลี่ยนแปลงอันใดแล้ว ก็มักจะเห็นเป็นการเดือดร้อนทุกสิ่งทุกอย่าง ที่สุดจนจะต้องรื้อกะท่อมที่กว้างยางเพียง ๖ ศอก ๔ ศอกราคา ๗ บาท ๘ บาท เพื่อจะทำถนนหรือคลอง หรือสร้างตึก ถึงโดยว่าจะได้เงินราคาสมควรแล้ว ยังเป็นการเดือดร้อนบ่นกันเซ็งแซ่ ค่าที่ต้องรื้อปลูกใหม่ว่าเป็นความเดือดร้อน เพราะไม่ชอบการที่จะต้องเปลี่ยนแปลงให้ลำบาก การที่อยากเปลี่ยนแปลงนั้น กลับเป็นของผู้ปกครองบ้านเมืองอยากเปลี่ยนแปลง เพราะรู้ธรรมเนียมประเทศอื่นที่เห็นว่าดีกว่านั้น เมื่อการกลับตรงกันข้ามดังนี้ จะเอาความคิดแบบอย่างที่คิดราชการในประเทศยุโรปมาใช้ในเมืองไทยอย่างไรได้ ถ้าจะตั้งปาลิแมนต์ขึ้นในเมืองไทย เอาความคิดราษฏรเป็นประมาณในเวลานี้แล้ว ข้าพเจ้าเชื่อว่าจะไม่ได้จัดการอันใดได้สักสิ่งหนึ่งเป็นแน่แท้ทีเดียว คงจะต้องเถียงกันป่นปี้ไปเท่านั้น
 ข้าพเจ้าจึงเห็นควรว่า ในการปกครองกรุงสยามนี้ ถ้าจะจัดการอาศัยเจ้าแผ่นดินเป็นหลัก ให้เป็นไปตามความนิยมอย่างเก่าจะเป็นการง่ายดีกว่าที่จะจัดการอย่างอื่น เพราะเป็นของมีพื้นเพมาแล้ว แต่เมื่อข้าพเจ้ากล่าวดังนี้ ผู้ซึ่งอยู่ในความคิดที่กลับตรงกันข้ามทั้งสองพวก หรือจะเป็นพวกที่คิดจะเปลี่ยนแปลงโดยแรงที่สุดพวกเดียว จะเห็นว่าข้าพเจ้ากล่าวดังนี้เพื่อจะหาอำนาจใส่ตัว เมื่อตกลงยินยอมตามที่ว่านี้แล้ว การเจริญทั้งปวงก็จะไม่สำเร็จไปได้ เพราะข้าพเจ้าเป็นผู้ปิดสกัดกั้นอยู่ได้ ก็จะไม่ปล่อยให้การทั้งปวงเดินไป แต่เป็นความจริงนั้น ถ้าจะคิดดังนั้นก็เป็นความคิดที่เพลินไป ตามที่ได้อ่านในพงศาวดารต่างประเทศที่เจ้าแผ่นดินเป็นผู้ขัดขวางต่อการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง แต่เมื่อว่าตามจริงแล้ว เมืองไทยไม่เหมือนกับประเทศยุโรปเลยด้วยเช่นที่กล่าวมาแล้ว ข้าพเจ้าหวังใจว่าคงจะมีผู้เห็นจริงรับรองตามคำที่ข้าพเจ้าจะได้กล่าวต่อไปบ้างเป็นแน่ ว่าตัวข้าพเจ้าเองเป็นคนแรกหรือเป็นคนหนึ่ง ซึ่งได้มีความอุสาหะคิดอ่านที่จะเปลี่ยนแปลงการบ้านเมืองให้มีความเจริญ ก่อนบ้านเมืองจะต้องการเร่งรัดเอาเสียอีก แต่ข้าพเจ้าต้องยอมรับเหมือนกันด้วยว่าข้าพเจ้าไม่เห็นชอบในความคิดที่แรงจัดทั้งสองอย่าง คือที่จะเปลี่ยนแปลงจนกระทั่งถึงศาสนา ซึ่งยังไม่เห็นว่าเป็นการต้องการเป็นการจำเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดเลย และไม่เห็นด้วยในการซึ่งจะรักษาบ้านเมืองแต่ตามธรรมเนียมเดิมไม่เปลี่ยนแปลงอันใดเลยนั้นด้วยเหมือนกัน ข้าพเจ้าชอบใจแต่เพียงทางกลาง และไม่มีความหวงแหนอันใดในการซึ่งจะเปลี่ยนแปลงแต่เพียงทางกลางแต่ถ้าจะเปลี่ยนแปลงใหญ่โตมากไปจนกะทั่งถึงเปลี่ยนศาสนาเป็นต้นแล้ว ก็เป็นการจำเป็นจะต้องให้ยอมนับข้าพเจ้าคนหนึ่งว่าเป็นผู้ขัดขวางไม่ยอมที่จะละทิ้งไปได้ และการซึ่งว่าทั้งนี้ ข้าพเจ้าก็รู้อยู่ว่าเหมือนกับเพิ่มทวีโรคของตัวซึ่งได้มาเผาผลาญอยู่เป็นนิจ คือ โรคหินหักอยู่กับต้นโพ เพราะเป็นการง่ายที่จะหลีกเลี่ยงความเปื่อยแฉะเชือนแชของตัว ว่าเพราะไม่ทรงอย่างนั้น ไม่ทรงอย่างนี้ ที่สุดจนสั่งแล้วไม่เห็นถามอีกจึงได้รอไว้ ซึ่งจะว่าตามที่จริงแท้ เป็นความผิดของผู้ที่รับคำสั่งนั้นเอง ยิ่งใหญ่ที่ได้รับคำสั่งข้าพเจ้าครั้งหนึ่งแล้วไม่ไปทำตามให้ตลอด แล้วมาพูดจะเป็นไว้อัชณาก็ไม่ใช่ จะเป็นสารภาพว่าผิดก็ไม่ใช่ กลายเป็นกล่าวโทษข้าพเจ้า และคนทั้งปวงก็มักจะลงเนื้อเห็นตัดสินเอาข้าพเจ้าเป็นผิดด้วย นี่เป็นโรคอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งนั้น ผู้ใดคิดการอันใดจะใช้ได้ก็ดี มิได้ก็ดี อ้างแต่ว่าตัวได้คิดได้กราบทูลแล้ว ข้าพเจ้านิ่งเสียก็เป็นจนใจอยู่ เป็นแต่พูดอวดนอกๆเล่นว่าได้คิดการแผ่นดินแผ่นทรายเว้นแต่ไม่สำเร็จไป เพราะไม่มีอำนาจ ครั้นเมื่อขอให้แก้ใหม่โดยชี้แจงเหตุขัดข้องให้ไป หมดความคิดอย่างไรเข้า ก็ลงยกโทษผิดข้าพเจ้าอย่างเช่นที่กล่าวในครั้งแรก อีกอย่างหนึ่งนั้นไม่มีอันใดนอกจากแล้วแต่จะโปรด ถึงโดยสั่งเสียไปว่าให้ไปคิดจัดการตามตำแหน่ง ก็ไม่ไปคิดอ่านอันใด นิ่งอยู่เรื่อยๆอยู่จะตักเตือนไต่ถามก็ไม่ว่า เมื่อไปเกิดเหตุการอย่างไรก็ซัดแต่ยังไม่ได้พระกระแส โรคหินหักทิ้งต้นโพนี้ เป็นโรคใหญ่มีประเภทต่างๆพ้นที่จะพรรณนา ที่ยกมาว่านี้เป็นแต่อุทาหรณ์ การที่เป็นดังนี้เพราะเหตุใด เพราะเหตุที่ความรู้และสติปัญญาของผู้ที่คิดการหรือผู้ที่รับการไม่พอที่จะประคองความคิดของตัวไปให้ตลอดสำเร็จและไม่พอที่จะทำการตามตำแหน่งของตัวที่ได้รับการอย่างหนึ่งเพราะปราศจากความจงรักภักดี คือตัวความสามัคคีนั้นเองอีกอย่างหนึ่ง

 ถึงแม้ว่าจะรวมความคิดกันลงเป็นทางกลางอย่างเดียว เช่นได้กล่าวชักชวนมาข้างต้น และจะถือเอาอำนาจเจ้าแผ่นดินเป็นประมาณตามอย่างเก่านั้นแล้วก็ดี แต่ยังมีโรคหินหักทิ้งต้นโพอยู่อย่างนี้ จะนับว่าเป็นสามัคคีตามคาถาที่ว่ามาในเบื้องต้นนั้นก็ยังไม่ได้ และจะไม่อาจทำความเจริญให้แก่บ้านเมืองได้โดนเร็วด้วย

 ถ้าหากว่ายินยอมพร้อมใจกันเดินทางกลางแล้ว ก็ยังจะต้องปลูกความจงรักภักดี ความสามัคคีพร้อมเพรียง และความอุตสาหะให้แรงกล้าขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในประจุบันนี้ คือตั้งใจพร้อมกันพิจารณาดูการทั้งปวง ว่าการสิ่งไรซึ่งเป็นไปอยู่ในบัดนี้ควรจะเลิกถอนเสียทีเดียว การสิ่งใดควงจะเปลี่ยนแปลงอย่างเก่าเป็นอย่างใหม่ การสิ่งใดซึ่งยังไม่มีไม่เป็นควรจะตั้งเพิ่มเติมขึ้นเมื่อผู้ใดคิดเห็นพูดขึ้น ต้องพร้อมกันพิจารณาตามโดยความคิดอันละเอียดในทางได้ทางเสียตลอดทุกข้อทุกประการ เมื่อจะสงสัยในความคิดอันใด ผู้ซึ่งเป็นต้นคิดต้องอธิบายตามความคิดเห็นของตัวที่คิดไว้แล้ว ผู้ที่ถามนั้นก็ตั้งใจถามเพื่อจะรู้ความคิดเป็นทางที่จะได้คิดการให้ตลอดไป ฝ่ายผู้ที่เป็นต้นคิดนั้นก็ต้องไม่มีความโกรธ ในการที่มีผู้สงสัยไม่เข้าใจความคิดของตัว หรือความคิดของตัวคิดไว้ไม่ตลอด เมื่อมีผู้ถามแปลกออกไปจากความคิดจะคิดแก้ไขไม่ได้ต่อไป ต้องรับว่าข้อนั้นเป็นผิดอยู่ฝ่ายผู้ที่ถามต้องช่วยคิดแก้ไขต่อไปตามความคิดของตัว ไม่เป็นการแต่ถามสำหรับที่จะดักคอกันเล่นเปล่าๆ เมื่อช่วยกันพิจารณาโดยเต็มกำลังจนถึงช่วยกันเรียบเรียงแก้ไขเป็นข้อบังคับขึ้นได้ แล้วผู้ที่จะรับการนั้นไปทำหน้าที่ ก็ตั้งใจทำการนั้นโดยเต็มกำลังเต็มความคิดที่จะให้เป็นไปได้ตามการที่ตกลง ถ้าเป็นการพร้อมมูลกันทำได้ดังนี้ เหตุใดการจำเริญของบ้านเมืองจะไม่สำเร็จไปเพราะความสามัคคีได้เล่า การซึ่งเป้นเครื่องกีดกั้นความจำเริญของบ้านเมืองอยู่ทุกวันนี้ก็มีสองสามอย่างเท่านั้น อย่างหนึ่งคือถ้าจะจัดการอย่างใหม่ไปถึงจะแลเห็นว่าจะมีผลดีเมื่อภายหน้าและเป็นการเจริญมั่นคงของบ้านเมืองก็จริง แต่เป็นการช้าที่จะสำเร็จไปได้ ส่วนประโยชน์และอำนาจที่ได้อยู่แล้ว จะต้องสละละทิ้งไปเสียก่อน กว่าจะได้รับประโยชน์ใหม่ หรือประโยชน์เก่าได้เหลือเฟือเกินกว่าการที่ทำ ถ้าจัดการใหม่ประโยชน์นั้นก็จะต้องได้พอควรแก่การ ระงับความเสียดายประโยชน์ที่จะต้องขาดไปนั้นไม่ได้ แต่หากมีความกะดากใจ หรืออยากได้ชื่อเสียงว่าเป็นผู้ทำนุบำรุงแผ่นดิน ก็คิดก็พูดโผงๆไป แล้วก็ลงเรื่องงหินหักทิ้งต้นโพนั้นอย่างหนึ่ง เพราะถือเอาความชอบใจไม่ชอบใจในตัวผู้คิดผู้ทำถือพวกถือพ้อง ถ้าเป็นความคิดของพวกหนึ่งทำแล้ว ถึงเป็นดีอย่างไร ก็คงจะคิดขัดขวางป้องกันจนสุดกำลัง เพราะเหตุที่ผู้จะเข้าเป็นพวกปาตีเดียวกันมีน้อย และความรู้ที่จะโต้เถียงกันไม่พอตามเช่นกล่าวมาข้างต้นแล้วนั้น ก็เกิดแต่ทิฏฐิมานะกันไปทั้งผู้คิดและผู้พิจารณา การนั้นจึงไม่สำเร็จไปได้อย่างหนึ่ง เพราะผู้ที่คิดที่พูดนั้นถึงจะไม่มีประโยชน์อันใดที่จะพึงเสีย แต่มีความปรารถนาที่จะออกตัวว่าตัวเป็นผู้มีสติปัญญา มีความประพฤติและความคิดที่จะทำนุบำรุงบ้านเมืองดียิ่งกว่าเพื่อนราชการ หรือเพื่อนมนุษย์ชาติเดียวกันทั้งสิ้น จะพูดจะคิดอันใดก็พูดก็คิดเอาแต่ที่มีเต็มตามที่จะพูดได้ไม่ต้องนึกว่าการนั้นจะสำเร็จได้หรือมิได้ประการใด เป็นแต่เหมือนกับการทำกับข้าวด้วยปาก เมื่อคันอยู่แห่งใดก็คุ้นเขี่ยแกะเกาไปที่ตรงนั้นมากขึ้น เป็นแต่การพูดเล่นคิดเล่นเรียกว่าไว้ชื่อในแผ่นดิน ไม่คิดเห็นว่าคนภายหน้าจะพิจารณาถ้อยคำของตัวแล้ว จะเห็นว่าเป็นแต่คำพูดเล่นเปล่าๆ เชื่อแน่ใจว่าคนในประจุบันก็ดี ภายหน้าก็ดี เมื่อได้เห็นถ้อยคำสำนวนของตัวแล้ว จะออกปากว่าท่านผู้ซึ่งมีสติปัญญาอย่างนี้สิไม่ใช้ให้เป็นผู้ทำนุบำรุงแผ่นดินเล่า ดังนี้พวกหนึ่ง เพราะผู้ที่คิดและผู้ที่ปรึกษาทั้งปวงมีความรู้และความคิดไม่พอกับที่จะจัดการนั้นให้ตลอด เป็นแต่คิดเริ่มขึ้นได้แล้ว แต่เมื่อไปเห็นการขัดข้องหรือมีผู้ทักท้วง จนความคิดเข้าด้วยกันก็เลยทิ้งเสียนั้นอย่างหนึ่งเพราะผู้คิดผู้ทำการเกินกว่าที่จะคิดจะทำ ทิ้งฉำแฉะเลยไปเลยด้วยเหตุที่มีผู้คิดน้อยกว่าการจึงเป็นการจำเป็นที่จะทำไม่ไหวนั้นอย่างหนึ่ง เหตุการณ์เหล่านี้เป็นเหตุที่จะให้การทั้งปวงไม่สำเร็จไปได้

 เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าเห็นว่า การซึ่งจะให้สำเร็จเป็นความเจริญแก่บ้านเมืองได้ ต้องตั้งใจพร้อมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวว่าบ้านเมืองของเราเป็นเวลาจำเป็นที่จะต้องจัดการให้มีความเจริญเดินไปเสมอๆกับประเทศทั้งปวง ถ้าจะนิ่งอยู่ไม่จัดการอันใดคงจะเป็นการเสียอำนาจบ้านเมืองลดหย่อนไป บ้านเมืองจะไม่มีกำลังแข็งแรงพอที่จะรักษาตัวเองได้ ถึงโดยว่าจะเสียประโยชน์ที่ได้อยู่เดี๋ยวนี้มากกว่าที่หมายว่าจะได้ในเมื่อจัดการเปลี่ยนแปลงไปแล้วก้ดี แต่ยังจะได้ประโยชน์นั้นยืนยาวอยู่ไม่ขาดลอยทีเดียวเหมือนอย่างเช่นถ้าทิ้งไว้อย่างนี้ บางทีจะเป็นไปได้ หรือความแตกร้าวโกรธขึ้งพยาบาทกันมาแต่ครั้งไรๆก็ดี ถ้าเป็นการตัดรอนขัดขวางกันได้ในเวลานี้ ก็เป็นแต่มื้อหนึ่งขณะหนึ่ง แต่ถ้าบ้านเมืองจะไม่ตั้งอยู่ปกติได้ ก็จะต้องได้รับความทุกข์เสมอกันการชะนะในครั้งหนึ่งคราวหนึ่งจะไม่เป็นเกียรติยศยืนยาวอยู่ได้หรือความปรารถนาที่จะอวดดีว่าเป็นผู้มีสติปัญญายิ่งกว่าเพื่อนบ้านชาติเดียวกันนั้น ก็เมื่อบ้านเมืองซึ่งเป็นชาติของตัวไม่ตั้งอยู่ได้แล้ว ถึงจะมีถ้อยคำแก้ตัวทับถมซัดทอดผู้ใดผู้หนึ่งให้มากมายสักเท่าใด ผู้มีสติปัญญาเขาก็คงไม่สรรเสริญยกย่องว่าตัวเป็นผู้มีสติปัญญาได้ หรือเมื่อไม่มีความคิดพอที่จะคิดให้ตลอดได้ ก็ไม่ควรที่จะมีทิฏฐิมานะหวงแหนอย่างหนึ่งอย่างใด ต้องอุตสาหะที่จะหาผู้ช่วยคิดอ่านปรึกษาหารือจนการนั้นจะสำเร็จไปได้ไม่ควรที่จะละทิ้งความเพียรในการซึ่งจะคิดการอันมีคุณต่อแผ่นดินเสีย ส่วนว่าการซึ่งต้องติดขัดข้อง เพราะผู้ซึ่งเป็นผู้คิดนั้นมีการมากเหลือตัว ก็ควรที่ผู้ซึ่งไม่มีการมากจะต้องช่วยคิดอ่านอุดหนุนกันจนเต็มสติกำลัง เมื่อละข้อซึ่งเป็นเครื่องสกัดกั้นความเจริญของบ้านเมืองและความสามัคคีเสีย แล้วอุดหนุนกันและกันด้วยกำลังความคิดด้วยกำลังกาย ให้การทั้งปวงเป็นไปได้โดยเร็วโดยสะดวกโดยทางที่ถูกต้องแล้ว ก็ไม่มีข้อใดซึ่งจะสงสัยว่าบ้านเมืองจะไม่มีความเจริญ เมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้นได้โดยปริยายที่กล่าวมานี้แล้ว นั่นแลนับว่าเป็นถูกต้องามคาถา สพเพส สงฆภูตาน สามคคี วุฑฒิสาธิกา ซึ่งเป็นการสมควรแก่บ้านเมืองไทยตามความเห็นข้าพเจ้าว่า หนทางนี้จะเป็นทางถูกแท้ตามสมัยในประจุบันนี้

..............................................................................................................

ขอขอบคุณที่มาบทความ  :  84  เทิดพระเกียรติ  สมเด็จพระดจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา  กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์  ในโอกาสเจริญพระชนมายุ 7 รอบ  6 พฤษภาคม 2550  จัดพิมพ์โดยกระทรวงวัฒนธรรม

เข้าสู่ระบบ

สภาพุทธบริษัทคืออะไร

สถานที่รับสมัครสมาชิก

รายชื่อสถานที่รับสมัคร
สมาชิกสภาพุทธบริษัท
ทั่วประเทศไทย

สถานที่รับสมัครสมาชิกสภาพุทธบริษัท

Facebook

Google Plus

YouTube

อัลบั้มรูป

ใบสมัครสภาพุทธบริษัท

สถิติผู้เข้าชม

23030867
วันนี้
เมื่อวาน
อาทิตย์นี้
อาทิตย์ก่อน
เดือนนี้
เดือนก่อน
รวมทั้งหมด
1965
17477
87320
22847210
417206
451169
23030867

Your IP: 54.36.148.2
Server Time: 2024-04-27 02:58:49

สงวนลิขสิทธิ์ในการเผยแพร่โดย สภาพุทธบริษัท ภาคประชาสังคมจิตอาสา ๒๕๕๗

    

กำลังออนไลน์

มี 160 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์