ธงชัยเฉลิมพล

".... ทหารย่อมเป็นสิ่งสำคัญสำหรับที่จะป้องกันพระราชอาณาเขต และเป็นเหตุที่จะให้อำนาจบ้านเมืองกว้างขวางมั่นคงยั่งยืน ทหารไม่เป็นแต่สำหรับที่จะต่อสู้ในเวลาที่เกิดการศึกสงครามอย่างเดียว ย่อมเป็นประกัน ห้ามการศึกสงครามมิให้เกิดมีได้ด้วย เพราะฉะนั้นจึงต้องกล่าวว่า การที่มีทหารประจำรักษาพระราชอาณาเขต อันพรักพร้อมไปด้วยเครื่องศาสตราวุธ และมีความกล้าหาญนั้น เป็นเครื่องป้องกันการที่จะเกิดสงครามได้ เหตุฉะนี้กองทหารทั้งปวงจึงเป็นผู้มีความชอบอยู่เนืองนิตย์...."

พระบรมราโชวาทตอนหนึ่งของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในวันพระราชทานธงชัยเฉลิมพลประจำกองทหารต่าง ๆ  เมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2434 

 

ธงชัยเฉลิมพล เป็นธงประจำหน่วยทหารที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ธงชัยเฉลิมพลถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของทหาร  ที่ทหารทุกคนต้องเคารพสักการะ และพิทักษ์รักษาไว้ด้วยชีวิต การปฏิบัติต่อธงชัยเฉลิมพลทุกขั้นตอน  ต้องเป็นไปตามพิธีการ ระเบียบแบบแผนที่วางไว้อย่างเข้มงวดกวดขัน ในโอกาสที่จะเชิญธงชัยเฉลิมพลออกประจำที่ จะต้องเป็นพิธีการที่มีความสำคัญเกี่ยวกับเกียรติยศและเชิดหน้าชูตาเท่านั้น เช่น พิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนของทหาร และไปราชการสงคราม เป็นต้น

ธงชัยเฉลิมพล เริ่มมีในกองทัพบก เดิมจำแนกออกเป็นสองชนิด คือ

     - ชนิดแรก ธงชัยประจำกองทัพ อันได้แก่ ธงจุฑาธุชธิปไตย และ ธงไพชยนต์ธวัช

     - ชนิดที่สอง ธงชัยเฉลิมพลประจำกองทหาร

 

 

ธงจุฑาธุชธิปไตย   นับเป็นธงชัยเฉลิมพลประจำกองทัพธงแรกของไทย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสร้างขึ้น พระราชทานแก่กองทัพไทยเมื่อปี พ.ศ. 2418 เพื่อแทนพระองค์ไปในกองทัพ ที่ยกไปปราบพวกฮ่อที่เข้ามาก่อการจลาจลในแคว้นหัวพันทั้งห้าทั้งหก และแคว้นสิบสองปันนาของไทยในครั้งนั้น

   

 

ธงมหาไพชยนต์ธวัช   พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. 2455 เพื่อพระราชทานให้เป็น ธงชัยเฉลิมพลประจำกองทัพอีกธงหนึ่ง คู่กับธงจุฑาธุปธิปไตย

   

สำหรับธงไชยเฉลิมพลประจำกองทหาร  องค์พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นพระราชทานแก่หน่วยทหารเป็นคราว ๆ ละหลายธง และในคราวหนึ่ง  ๆ ธงจะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน จะผิดกันในส่วนที่เป็นนายหน่วยเท่านั้น


ธงชัยเฉลิมพล ได้เข้าประกอบพิธีสำคัญทางศาสนา ในพระราชพิธีตรึงหมุด ธงชัยเฉลิมพล โดยองค์พระมหากษัตริย์ ทรงประกอบพิธีนี้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ท่ามกลางพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ชั้นผู้ใหญ่  พระมหากษัตริย์ทรง  ตรึงธงแต่ละผืนติดกับด้ามธง โดยทรงตอกฆ้อนเงินลงบนตะปูทองเหลืองอย่างแน่น ธงหนึ่งมีรูตะปูประมาณ 32-35 ตัว  ที่ส่วนบนของคันธงจะมีลักษณะเป็นปุ่มโลหะกลึงกลมสีทองภายในกลวง  ปุ่มกลมนั้นทำเป็นฝาเกลียวปิด-เปิดได้  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงบรรจุ เส้นพระเจ้า พร้อมด้วยพระพุทธรูปที่ได้เข้าพิธีพุทธาภิเษกแล้ว  ชื่อ พระยอดธง ลงในปุ่มกลมแล้วทรงปิดฝาเกลียวขันแน่น ทรงเจิมแป้งกระแจะจันทน์ที่ยอดธงทุกคัน  พระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา  ตั้งแต่เริ่มพิธีจนจบพิธี


 

 

ความหมายสำคัญของธงชัยเฉลิมพล มี 3 ประการ คือ

- ผืนธง หมายถึง ชาติ

- บนยอดธงบรรจุพระพุทธรูป หมายถึง พุทธศาสนา

- เส้นพระเจ้าของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หมายถึง องค์พระมหากษัตริย์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงกระทำพิธีพระราชทานธงชัยเฉลิมพลให้กับหน่วยทหารต่าง ๆ ทุกกรมกองทหาร ทุกคนระลึกอยู่เสมอว่าธงชัยเฉลิมพลจะปลิวสะบัดอย่างสง่างาม เป็นมิ่งขวัญของพสกนิกรชาวไทยตลอดไป ตราบเท่าที่ประเทศไทยดำรงคงความเป็นเอกราชอยู่ได้

เป็นหน้าที่ของทหารที่จะต้องระวังรักษาธงชัยเฉลิมพลไว้ด้วยความเคารพรักและเทิดทูนไว้อย่างสูงยิ่ง เพราะธงชัยเฉลิมพลย่อมเป็นเกียรติยศของหน่วยทหารนั้น ๆ เมื่อเวลาเข้าสู่สงครามทหารทั้งปวง ต้องพิทักษ์รักษาธงชัยเฉลิมพลของหน่วยตนไว้ด้วยชีวิต    ธงชัยเฉลิมพลจึงเป็นเครื่องนำความองอาจ กล้าหาญ แห่งหมู่ทหารทั้งปวง ให้เข้าต่อสู้ข้าศึกศัตรูให้ได้ชัยชนะกลับมา 

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานธงชัยเฉลิมพลประจำกองทหาร ที่ใช้ในสงครามต่าง ๆ และหน่วยทหารที่ได้รับพระราชทานนำไปเป็นมิ่งขวัญแก่เหล่าทหารหาญในสมรภูมินั้น ๆ มีดังนี้

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2461 จำนวน 2 ธง เพื่อใช้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 พระราชทานแก่กองทหารบกรถยนต์ และกองบินทหารบกของไทย ที่ส่งไปร่วมรบกับฝ่ายสัมพันธมิตร  ในทวีปยุโรป

    ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2483 เพื่อใช้ในสงครามกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส

    ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นพระราชทานแก่หน่วยทหารไทยในสงครามเกาหลี และสงครามเวียตนาม

 

 

นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังได้โปรดเกล้า ฯ พระราชทานธงชัยเฉลิมพลให้กับหน่วยทหารต่าง ๆ ดังนี้

            25  มกราคม 2496  พระราชทานแก่กองพันทหารบก ที่ยังไม่มีธงชัยเฉลิมพลประจำ รวม 40 กองพัน

            16  ธันวาคม 2519  พระราชทานให้กับหน่วยทหารในกองบัญชาการทหารสูงสุด กองทัพบก กองทัพเรือ และ กองทัพอากาศ รวม 21 หน่วย

            19  มีนาคม 2524  พระราชทานให้กับกองพันในกองทัพบก 15 กองพัน

            11  กรกฎาคม 2526  พระราชทานให้หน่วยทหาร 35 หน่วย เป็นหน่วยในกองทัพบก 31 หน่วย และหน่วยในกองทัพอากาศ ๔ หน่วย

            19  มีนาคม 2530   พระราชทาน แก่หน่วยทหารรวบ 50 หน่วย

 8  พฤศจิกายน 2534   พระราชทานแก่หน่วยทหารในกองทัพบก รวม 50 หน่วย

 พิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพล

พิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพล สันนิษฐานว่าได้กระทำครั้งแรกเมื่อ 20 ตุลาคม 2471 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้เสด็จไปเป็นประธาน พิธีสวนสนามครั้งนี้ประกอบด้วย ทหารบก ทหารรักษาวัง และทหารเรือ ที่ประจำอยู่ที่กรุงเทพ ฯ ณ ลานพระราชวังดุสิต

             ในปี พ.ศ. 2493  กระทรวงกลาโหมได้สั่งการให้แต่ละเหล่าทัพ  แยกกันทำพิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพล สำหรับกองทัพบกได้จัดให้มีขึ้นในวันที่ 8 พฤศจิกายน ของทุกปี

             ต่อมาในปี พ.ศ. 2500   ได้มีการประกอบพิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพลของทหารทั้งสามเหล่าทัพ ในเขตพระนครและธนบุรีร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง และต่อมาก็ได้กำหนดให้หน่วยทหารในแต่ละพื้นที่ จัดทำพิธี ฯ ภายในหน่วย เพื่อลดปัญหาการจราจร

             ปัจจุบันพิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตน ฯ  กระทำในวันที่ 25 มกราคม ของทุกปี  เนื่องจากวันดังกล่าวเป็นวันกองทัพไทย และในวันดังกล่าวทหารใหม่ได้ฝึกเสร็จสิ้นแล้วตามหลักสูตร และพร้อมที่จะทำการรบได้ นอกจากนั้นยังเป็นวันระลึกถึงวีรกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงกระทำยุทธหัตถี  ได้รับชัยชนะต่อข้าศึก

คำปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพลของทหาร

      ข้าพเจ้า        (ยศ  นาย  นามสกุล)   ขอกระทำสัตย์ปฏิญาณว่า

      ข้าพเจ้า        จักยอมตาย  เพื่ออิสรภาพ และความสงบแห่งประเทศชาติ

      ข้าพเจ้า        จักรักษาไว้ ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

      ข้าพเจ้า        จักอยู่ในศีลธรรมของศาสนา

      ข้าพเจ้า        จะเชิดชูและรักษาไว้ ซึ่งพระบรมเดชานุภาพแห่งพระมหากษัตริย์เจ้า

      ข้าพเจ้า        จักเชื่อถือผู้บังคับบัญชา และปฏิบัติตามคำสั่งโดยเคร่งครัด ทั้งจักปกครองแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา  โดยยุติธรรม

      ข้าพเจ้า        จะไม่แพร่งพรายความลับของราชการเป็นอันขาด