วันอาสาฬหบูชา
วันอาสาฬหบูชา
"อาสาฬหบูชา" (อา-สาน-หะ-บู-ชา/อา-สาน-ละ-หะ-บู-ชา) ประกอบด้วยคำ ๒ คำ คือ อาสาฬห (เดือน ๘ ทางจันทรคติ) กับ บูชา (การบูชา) เมื่อรวมกันจึงแปลว่า การบูชาในเดือน ๘ หรือการบูชาเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในเดือน ๘ หรือเรียกให้เต็มว่า อาสาฬหบูรณมีบูชา โดยสรุป วันอาสาฬหบูชา แปลว่า การบูชาในวันเพ็ญ เดือน ๘ หรือ การบูชาเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในวันเพ็ญ เดือน ๘
คือวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันหนึ่ง ตรงกับวันเพ็ญ เดือน ๘ ก่อนวันเข้าพรรษา ๑ วัน
หลังจาก สมเด็จพระพุทธองค์ ได้ตรัสรู้ในวันเพ็ญ เดือน ๖ แล้วได้ทรงใช้เวลาทบทวนสัจธรรมและทรงคำนึงว่าธรรมะที่พระองค์ตรัสรู้นี้ลึกซึ้งมาก ยากที่ผู้อื่นจะรู้ตาม แต่อาศัยพระกรุณานี้เป็นที่ตั้งจึงทรงพิจารณา แบ่งบุคคลออกเป็น ๔ ประเภท คือ
๑. อุคฆติตัญญู ผู้ที่สามารถรู้ธรรมวิเศษได้ทันทีทันใดในขณะที่มีผู้สั่งสอน เปรียบเหมือนดอกบัวที่โผล่ขึ้นพ้นน้ำแล้ว พร้อมที่จะบานเมื่อได้ได้รับแสงอาทิตย์ในวันนั้น
๒. วิปัจจิตัญญู สามารถรู้ธรรมวิเศษได้ ต่อเมื่อท่านได้ขยายความให้พิสดารออกไป เปรียบเหมือนดอกบัวที่ตั้งอยู่เสมอระดับน้ำ จะบานในวันรุ่งขึ้น
๓. เนยยะ ผู้ที่พากเพียรพยายาม ฟัง คิด ถาม ท่องอยู่เสมอไม่ทอดทิ้ง จึงได้รู้ธรรมวิเศษเปรียบเหมือนดอกบัวที่ยังไม่โผล่ขึ้นจากน้ำ แต่เมื่อได้รับการหล่อเลี้ยงจากน้ำแล้ว ก็ย่อมจะโผล่และบานขึ้นในวันต่อ ๆ ไป
๔. ปทปรมะ ผู้ที่แม้ฟัง คิด ถาม ท่องแล้ว ก็ไม่สามารถรู้ธรรมวิเศษได้ เปรียบเหมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำกับเปือกตม รังแต่จะเป็นอาหารเต่าและปลา
เมื่อทรงเล็งเห็นเหตุนี้แล้ว พระพุทธองค์ตกลงพระทัยที่จะสอนบุคคลประเภทแรกก่อน จึงเสร็จจากตำบลพระศรีมหาโพธิ ถึงกรุงพาราณสี ในตอนเย็นวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน อาสาฬหะ ประทับแรมอยู่กับพระปัญจวัคคีย์นั้น รุ่งขึ้นวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ ทรงแสดงธรรมจักกัปปวัตตสูตรโปรดพระปัญจวัคคีย์ สรุปลงด้วยอริยสัจ ๔ ได้แก่
๑. ทุกข์ ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ
๒. สมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์
๓. นิโรธ ความดับทุกข์
๔. มรรค ทางที่จะปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
เนื่องจากพระพุทธองค์ทรงเทศนาเป็นกัณฑ์แรก จึงเรียกเทศฯกัณฑ์นี้ว่า "ปฐมเทศนา"
ขณะที่ทรงแสดงธรรมอยู่นั้น ท่านโกณฑัญญะ หรือ อัญญาโกณฑัญญะ หัวหน้าคณะปัญจวัคคีย์มีความเข้าใจในหลักสัจธรรมของพระองค์ จึงได้สมัครเข้าเป็นสาวก นับเป็น"ปฐมสาวก" ของพระพุทธเจ้า
หลังจากนั้นพระอัญญาโกณฑัญญะทูลขออุปสมบท ซึ่งพระพุทธองค์ประทานอนุญาต ด้วย "เอหิภิกขุ อุปสัมปทา" นับเป็นพระสงฆ์องค์แรกในพระศาสนาที่บวชตามพระพุทธองค์จะเห็นได้ว่า ปรากฏการณ์สำคัญ ๆ ในวันนี้มีถึง ๔ ประการ ด้วยกัน คือ
๑.เป็นวันแรกที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนา
๒.เป็นวันแรกที่พระพุทธองค์ทรงได้ปฐมสาวก
๓.เป็นวันแรกที่พระสงฆ์เกิดขึ้นในโลก
๔.เป็นวันแรกที่บังเกิดรัตนะครบสาม เป็นพระรัตนตรัย คือ พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ พระสังฆรัตนะ
เดิมวันนี้ไม่มีพิธีพิเศษ คงเนื่องมาจากวันก่อนเข้าพรรษาเพียงวันเดียว ประชาชนชาวพุทธได้ประกอบการบุญการกุศลเป็นประจำอยู่แล้ว แต่ต่อมาสังฆมนตรี มีมติให้ชาวพุทธประกอบการบูชาเป็นพิเศษในวันนี้ และเรียกว่า "วันอาสาฬหบูชา" เมื่อรัฐบาลเห็นชอบด้วยจึงนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุมัติ
จึงนับแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๔ จนถึงปัจจุบัน เมื่อถึงวันอาสาฬหบูชาพวกเราชาวพุทธ ต่างก็ประกอบการบูชาเป็นพิเศษตลอดวันนั้น นับตั้งแต่รับศีล ฟังเทศน์ สนทนาธรรม สวดมนต์ เดินเวียนเทียนพระพุทธสถาน เช่น รอบโบสถ์ วิหาร เจดีย์ หรือต้นศรีมหาโพธิ เป็นต้น เช่นเดียวกัน วันมาฆบูชา วิสาขบูชา ต่างกันที่เปลี่ยนคำบูชาพระก่อนเวียนเทียนตามประกาศของสำนักสังฆนายก
การประกอบพิธีกรรมในวันอาสาฬหบูชา
๑. ทำบุญตักบาตรในตอนเช้า
๒. รักษาศีล ปฏิบัติธรรม ฟังพระธรรมเทศนา
๓. เวียนเทียนที่วัดในตอนค่ำ
------------------------------------------------------------------
วันเข้าพรรษา
วันเข้าพรรษา เป็นวันสำคัญในพุทธศาสนาวันหนึ่ง ที่พระสงฆ์อธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ตลอดช่วงฤดูฝนที่มีกำหนดเป็นระยะเวลา ๓ เดือน ตามที่พระธรรมวินัยบัญญัติไว้ โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น
วันเข้าพรรษา กำหนดเป็น ๒ ระยะ คือ
๑. ปุริมพรรษา คือ วันเข้าพรรษาต้น ตรงกับวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๖ ของทุกปี
๒. ปัจฉิมพรรษา คือ วันเข้าพรรษาหลัง สำหรับปีอธิกมาส คือ มีเดือน ๘ สองหน ตรงกับวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ หลัง
ประวัติของวันเข้าพรรษา
ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงบัญญัติพระวินัยให้พระสงฆ์สาวกอยู่ประจำพรรษา เหล่าภิกษุสงฆ์จึงต่างพากันออกเดินทางเผยแผ่พระพุทธศาสนาในที่ต่างๆ โดยไม่ย่อท้อทั้งในฤดูหนาว ฤดูร้อน และฤดูฝน ต่อมาชาวบ้านได้พากันติเตียนว่า พวกสมณะไม่ยอมหยุดพักสัญจรแม้ในฤดูฝนในขณะที่นักบวชในศาสนาอื่น พากันหยุดเดินทางในช่วงฤดูฝน การที่พระภิกษุสงฆ์จาริกไปในที่ต่างๆ แม้ในฤดูฝน อาจเหยียบยำข้าวกล้าของชาวบ้านได้
รับความเสียหาย หรืออาจไปเหยียบยำโดนสัตว์เล็กสัตว์น้อยที่ออกหาจินจนถึงแก่ความตาย เมื่อพระพุทธเจ้าทราบเรื่อง จึงได้วางระเบียบให้ภิกษุประจำอยูที่วัดเป็นเวลา ๓ เดือน พระสงฆ์ที่เข้าจำนำพรรษาแล้วจะไปค้างแรมที่อื่นไม่ได้ แต่หกมีกรณีจำเป็น ๔ ประการต่อไปนี้ ภิกษุผู้อยู่พรรษาสามารถไปค้างที่อื่นได้ โดยไม่ถือว่าเป็นการขาดพรรษา แต่ต้องกลับมาภายในคระยะเวลา ๗ วัน คือ
๑. ไปรักษาพยาบาลภิกษุ หรือบิดามารดาที่เจ็บป่วย
๒. ไประงับไม่ให้ภิกษุสึก
๓. ไปเพื่อกิจธุระของคณะสงฆ์
๔. ทายกนิมนต์ไปฉลองศรับธาในการบำเพ็ญกุศลของเขา
ประโยชน์ในการเข้าพรรษาของพระภิกษุสงฆ์
๑.พระภิกษุสงฆ์จะได้พักผ่อนหลังจากที่เดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นเวลานาน
๒.เพื่อให้พระสงฆ์มีเวลาศึกษาพระธรรมวินัยมากขึ้น
๓.เพื่อเปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้บำเพ็ญกุศล
"เข้าพรรษา" แปลว่า "พักฝน" หมายถึง พระภิกษุสงฆ์ต้องอยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่งระหว่างฤดูฝน โดยเหตุที่พระภิกษุในสมัยพุทธกาล มีหน้าที่จะต้องจาริกโปรดสัตว์ และเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนแก่ประชาชนไปในที่ต่างๆ ไม่จำเป็นต้องมีที่อยู่ประจำ แม้ในฤดูฝน ชาวบ้านจึงตำหนิว่าไปเหยียบข้าวกล้าและพืชอื่นๆ จนเสียหาย พระพุทธเจ้าจึงทรงวางระเบียบการจำพรรษาให้พระภิกษุอยู่ประจำที่ตลอด ๓ เดือน ในฤดูฝน คือ เริ่มตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ของทุกปี ถ้าปีใดมีเดือน ๘ สองครั้ง ก็เลื่อนมาเป็นวันแรม ๑ ค่ำ เดือนแปดหลัง และออกพรรษาในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ เว้นแต่มีกิจธุระคือเมื่อเดินทางไปแล้วไม่สามารถจะกลับได้ในเดียวนั้น ก็ทรงอนุญาตให้ไปแรมคืนได้ คราวหนึ่งไม่เกิน ๗ คืน เรียกว่า "สัตตาหะ" หากเกินกำหนดนี้ถือว่าไม่ได้รับประโยชน์แห่งการจำพรรษา จัดว่าพรรษาขาด
ระหว่างเดินทางก่อนหยุดเข้าพรรษา หากพระภิกษุสงฆ์เข้ามาทันในหมู่บ้านหรือในเมืองก็พอจะหาที่พักพิงได้ตามสมควร แต่ถ้ามาไม่ทันก็ต้องพึ่งโคนไม้ใหญ่เป็นที่พักแรม ชาวบ้านเห็นพระได้รับความลำบากเช่นนี้ จึงช่วยกันปลูกเพิง เพื่อให้ท่านได้อาศัยพักฝน รวมกันหลายๆ องค์ ที่พักดังกล่าวนี้เรียกว่า "วิหาร" แปลว่า ที่อยู่สงฆ์ เมื่อหมดแล้ว พระสงฆ์ท่านออกจาริกตามกิจของท่านครั้ง ถึงหน้าฝนใหม่ท่านก็กลับมาพักอีก เพราะสะดวกดี แต่บางท่านอยู่ประจำเลย บางทีเศรษฐีมีจิตศัรทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ก็เลือกหาสถานที่สงบเงียบไม่ห่างไกลจากชุมชนนัก สร้างที่พัก เรียกว่า "อาราม" ให้เป็นที่อยู่ของสงฆ์ดังเช่นปัจจุบันนี้
ทั้งนี้ โดยปกติเครื่องใช้สอยของพระตามพุทธานุญาตให้มีประจำตัวนั้น มีเพียงอัฏฐบริขาร อันได้แก่ สบง จีวร สังฆาฏิ เข็ม บาตร รัดประคด หม้อกรองน้ำ และมีดโกน และกว่าพระท่านจะหาที่พักแรมได้ บางทีก็ถูกฝนต้นฤดูเปียกปอนมา ชาวบ้านที่ใจบุญจึงถวายผ้าอาบน้ำฝนสำหรับให้ท่านได้ผลัดเปลี่ยน และถวายของจำเป็นแก่กิจประจำวันของท่านเป็นพิเศษในเข้าพรรษา นับเป็นเหตุให้มีประเพณีทำบุญเนื่องในวันนี้สืบมา...
อย่างไรก็ตาม แม้การเข้าพรรษาจะเป็นเรื่องของพระภิกษุ แต่พุทธศาสนิกชนก็ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ทำบุญรักษาศีล และชำระจิตใจให้ผ่องใส ก่อนวันเข้าพรรษาชาวบ้านก็จะไปช่วยพระทำความสะอาดเสนาสนะ ซ่อมแซมกุฏิวิหารและอื่นๆ พอถึงวันเข้าพรรษาก็จะไปร่วมทำบุญตักบาตร ถวายเครื่องสักการะบูชา ดอกไม้ ธูปเทียน และเครื่องใช้ เช่น สบู่ ยาสีฟัน เป็นต้น พร้อมฟังเทศน์ ฟังธรรม และรักษาอุโบสถศีลกันที่วัด บางคนอาจตั้งใจงดเว้นอบายมุขต่างๆ เป็นกรณีพิเศษ เช่น งดเสพสุรา งดฆ่าสัตว์ เป็นต้น อนึ่ง บิดามารดามักจะจัดพิธีอุปสมบทให้บุตรหลานของตน โดยถือกันว่าการเข้าบวชเรียนและอยู่จำพรรษาในระหว่างนี้จะได้รับอานิสงส์อย่างสูง
นอกจากนี้ ยังมีประเพณีสำคัญที่ขาดไม่ได้เลย คือ "ประเพณีหล่อเทียนเข้าพรรษา" ประเพณีที่กระทำกันเมื่อใกล้ถึงฤดูเข้าพรรษา ซึ่งมีมาตั้งแต่โบราณกาล การหล่อเทียนเข้าพรรษานี้ มีอยู่เป็นประจำทุกปี เพราะในระยะเข้าพรรษา พระภิกษุจะต้องมีการสวดมนต์ทำวัตรทุกเช้า – เย็น และในการนี้จะต้องมีธูป - เทียนจุดบูชาด้วย พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย จึงพร้อมใจกันหล่อเทียนเข้าพรรษาสำหรับให้พระภิกษุจุดเป็นการกุศลทานอย่างหนึ่ง เพราะเชื่อกันว่าในการให้ทานด้วยแสงสว่าง จะมีอานิสงฆ์เพิ่มพูนปัญญาหูตาสว่างไสว ตามชนบทนั้น การหล่อเทียนเข้าพรรษาทำกันอย่างเอิกเกริกสนุกสนานมาก เมื่อหล่อเสร็จแล้ ก็จะมีการแห่แหน รอบพระอุโบสถ ๓ รอบ แล้วนำไปบูชาพระตลอดระยะเวลา ๓ เดือน บางแห่งก็มีการประกวดการตกแต่ง มีการแห่แหนรอบเมืองด้วยริ้วขบวนที่สวยงาม โดยถือว่าเป็นงานประจำปีเลยทีเดียว